สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับคะ

วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

การรักษาโรคด้วยน้ำนมแม่

การรักษาโรคด้วยน้ำนมแม่



น้ำนมแม่นอกจากจะมีคุณค่าทางสารอาหารสำหรับทารกแรกเกิดแล้วยังพบว่ามีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมคือต่อต้านเซลมะเร็งได้อีก โดยที่ Catherina Svanborg นักวิจัยชาวสวีเดนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาภูมิคุ้มกันค้นพบโดยบังเอิญว่าน้ำนมแม่นอกจากจะช่วยต่อต้านการติดเชื้อ ในทารกแรกเกิด เมื่อทดลองกับเซลมะเร็งปอดแล้วพบว่าน้ำนมแม่สามารถฆ่าเซลมะเร็งได้ ดังนั้นจึงมีการวิจัยด้านนี้โดยต่อเนื่องมา

ทีมนักวิจัยก่อนหน้านี้ได้ศึกษาน้ำนมแม่ในด้านการต่อต้านเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเพื่อนำมาผลิตยารักษาโรค ตลอดจนการนำมารักษาโรคท้องร่วงในประเทศกำลังพัฒนาโดยนำมาผสมกับอาหารเพื่อปรับสภาพการย่อยอาหาร อย่างไรก็ตามน้ำนมแม่จากสัตว์อื่นๆมีคุณภาพไม่เท่าเทียมกับน้ำนมมนุษย์ แต่เนื่องจากเราไม่สามารถซื้อขายน้ำนมมนุษย์ได้ จึงมีการคิดค้นตัดต่อพันธุกรรมเชื้อแบคทีเรีย ต้นข้าว แพะ และวัว เพื่อผลิตสารประกอบในน้ำนมมนุษย์ทดแทน อย่างเช่น สาร oligosaccarides ซึ่งปกติมีปริมาณเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของส่วนประกอบน้ำนมแม่

นาย David Newburg จาก Massachusetts General Hospital ซึ่งได้ตัดต่อพันธุกรรมหนู (mice) เพื่อสร้างสาร oligosaccarides เพื่อรักษาโรคท้องร่วง (diarrhea) และนับว่าเป็นก้าวแรกของการวิจัยในด้านนี้ สาร oligosaccarides นี้ไม่ใช่ภูมิต้านทานที่ทารกได้รับจากแม่โดยตรง แต่ทารกที่ได้รับสารนี้จากน้ำนมแม่จะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคทั้งๆที่เป็นเชื้อโรคที่แม่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1998-2002 เป็นต้นมามีการปรับปรุงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้ผลิตสารประกอบของน้ำนมมนุษย์ อย่างเช่น การตัดต่อพันธุกรรมแพะให้สร้าง lysozyme การตัดต่อพันธุกรรมวัวให้สร้าง lactoferrin และการตัดต่อพันธุกรรมข้าวให้สร้างทั้ง lysozyme และ lactoferrin ซึ่งสารทั้งสองอย่างเป็นสารประกอบในน้ำนมของมนุษย์ โดย Lactoferrin ทำหน้าที่ลดการอักเสบหรือเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับโรคไขข้ออักเสบ โรคไขสันหลังอักเสบและภาวะช็อกจากการติดเชื้อ ส่วน Lysozyme ช่วยในการทำลายผนังเซลของแบคทีเรียที่ไม่พึงปรารถนาโดยไม่รบกวนเซลปกติอื่นๆในร่างกาย

สำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยน้ำนมจากการตัดต่อพันธุกรรมนั้นเกิดจากการให้โปรตีนที่ชื่อว่า alpha-lactalbumin ซึ่งทำงานเฉพาะในสภาวะเป็นกรดเฉกเช่นในกระเพาะอาหาร นักวิจัยใช้โปรตีน HAMLET หรือ Human Alpha-Lactalbumin ที่อยู่ในภาวะกรดซึ่งไวต่อเซลมะเร็งมากกว่าเซลปกติเพื่อทำลายเซลมะเร็ง นักวิจัยพบว่า HAMLETสามารถทำลายเซลมะเร็งกว่า 40 ชนิดในห้องทดลอง เมื่อให้โปรตีน HAMLET ที่มีภาวะเป็นกรดแก่หนูที่มีเซลมะเร็งชนิดร้ายแรง glioblastoma ซึ่งปกติจะทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตภายใน 1 ปี พบว่าในระยะเวลา 7 สัปดาห์ของการทดลอง เซลมะเร็งมีขนาดเล็กลง 7 เท่าเมื่อเทียบกับขนาดเซลมะเร็งที่ได้จากการรักษาด้วยโปรตีน alpha-lactalbumin ที่มีสภาพไม่เป็นกรด

โปรตีน HAMLET ยังมีผลดีต่อการรักษาหูดและก้อนเนื้องอกเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการเจริญ เติบโตอย่างผิดปกติของเนื้อเยื่อ โดย HAMLET จะทำให้หูดลดขนาดลง 95 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับการให้ยาหลอกซึ่งมีผลเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบันมีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะซึ่งยังไม่สรุปผล เพียงแต่นักวิจัยอ้างว่าเป็นการวิจัยที่ประสบความสำเร็จพอสมควรและไม่มีผลข้างเคียง มีบริษัทยาหลายๆแห่งเริ่มพัฒนายาที่ได้จากโปรตีนนี้แล้ว

ที่มา : http://www.ostc.thaiembdc.org/news_us/Jan50_9.html