สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับคะ

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลูกเป็นหวัด ทำไงดี กินยาอะไรดี ต้องกินยาฆ่าเชื้อหรือไม่

ลูกเป็นหวัด กินยาอะไรดี

โรคหวัดที่ติดกันได้เร็วส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัส 


รักษาตามอาการ โรคหายได้เอง อาจจะเร็วหรือช้า แล้วแต่กรณี ไม่ควรกินยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น
 
 


โรคหวัดที่ติดกันได้เร็วส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัส อาการจะเป็นมากเป็นน้อย หายเร็วหายช้า ขึ้นกับหลายปัจจัย
 
  • เชื้อไวรัสที่ได้รับ เป็นเชื้อที่รุนแรงหรือไม่
  • ภูมิต้านทานของลูก ถ้าเป็นเด็กที่แข็งแรง ได้รับภูมิต้านทานจากนมแม่ ก็มักหายเร็วกว่า และอาการมักจะรุนแรงน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้นมแม่
  • มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกหรือไม่
 

 ลูก น้ำมูกไหล

จะช่วยอย่างไรดี 
  การช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหลในเด็กเล็กๆ แนะนำให้ใช้น้ำเกลือหยอดหรือเช็ดจมูก ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูก เพราะจะทำให้เสมหะเหนียว และอาจไอมากขึ้น   ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ไอเก่งแล้ว สามารถใช้ได้
 
 
ส่วนเรื่องไอ เด็กเล็กยังไอไม่เก่ง ยาละลายเสมหะก็อาจช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ที่ดีคือการเคาะปอดในรายที่ไอมีเสมหะมาก ซึ่งอาจขอให้คุณหมอหรือพยาบาลสอนให้เวลาพาลูกไปตรวจ 
 
ยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อนั้นใช้ได้กับเชื้อแบคที่เรีย จึงไม่ช่วยรักษาโรคจากไวรัส  แต่ถ้ายังเป็นต่อหรือเป็นมากขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ ซึ่งมักเกิดจากมีเชื้อแบคทีเรียแทรก ยาแก้อักเสบจึงจะช่วยได้ในช่วงนี้  แต่ควรปรึกษาคุณหมอดีกว่า ไม่ควรซื้อยากินเอง

ถ้ามีอาการไข้ ก็ควรเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดให้ทั่ว โดยเฉพาะบริเวณข้อพับและซอกคอ ไม่ควรห่มผ้าหนา เพราะความร้อนจะระบายไม่ออก  ถ้าไข้ไม่ลด สามารถให้กินยาลดไข้พาราเซตามอลได้ ส่วนขนาดยา ขอให้ปรึกษาคุณหมอจะดีกว่า

ที่มา : http://www.thaibreastfeeding.org/content/view/23/94/

รวมเคล็ดลับและความรู้เรื่องนมแม่ 25 ข้อ

คลอดที่โรงพยาบาลที่สนับสนุนนมแม่ (จริงๆ)- นมแม่จะสำเร็จได้ง่าย ถ้าได้การเริ่มต้นที่ถูกต้อง
- รพ.ที่สนับสนุนนมแม่จะให้ลูกและแม่ได้เจอกันหลายครั้งใน 1 วัน เพื่อให้ลูกดูดกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างน้ำนม
- รพ.ที่เสริมนมผงให้ลูกโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ได้สนับสนุนนมแม่อย่างแท้จริง
(ขอให้สอบถามกับโรงพยาบาลก่อนซื้อแพคเกจคลอดบุตรว่า แม่และลูกพบกันเพื่อดูดนมวันละกี่ครั้ง)

เชื่อมั่นในนมแม่และร่างกายของตนเอง
- นมของแม่ทุกคน มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแต่ไม่มีใครโฆษณาให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง คุณแม่ควรศึกษาให้เข้าใจบ้าง และนำเอกสาร/แผ่นพับกลับบ้านเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกครอบครัว เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

คลอดธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ เพราะร่างกายแม่จะฟื้นตัวเร็ว
แม่ที่ผ่าคลอดก็สามารถให้นมแม่ได้ แต่ควรใช้เทคนิคอุ้มลูกด้วยท่าที่ไม่กดทับแผลผ่าคลอด
3 ด. (ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี) หลังคลอดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเร็ว
- ดูดทันทีหลังคลอดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนม
- ดูดสม่ำเสมอทุกๆ 2 ชม และ
- เมื่อลูกดูด ให้อมลึกถึงลานนม ถ้าดูดถูกวิธี แม่ไม่ต้องทนเจ็บปวด

หัวนมเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ต้องรักษาให้ดี
- ถ้าลูกอมลึกถึงลานนมจะรีดน้ำนมออกได้มาก แม่จะไม่รู้สึกเจ็บ
- หลังให้นมแม่ ใช้นมแม่ทาหัวนมและผึ่งให้แห้ง ช่วยสมานแผลหรือลดความระบมได้

สลับดูด ซ้าย-ขวา ไม่ใช่เฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง
ลูกจะได้หัดดูดทั้งสองข้าง กระตุ้นให้น้ำนมสร้างเท่าๆ กันทั้งสองข้าง
สมมติว่ารอบเช้า เริ่มเต้าขวา ดูดเต้าซ้ายไม่เกลี้ยง ก็ให้บีบข้างซ้ายออก
รอบต่อไปให้ดูดข้างซ้ายให้เกลี้ยง แล้วบีบข้างขวาออก (ใช้ยางรัดผมคล้องที่ข้อมือเตือนความจำ)

หัวนมสั้น ไม่ใช่อุปสรรค
- หากเต้านมคัดตึงและดึงให้หัวนมสั้นลงอีก จะทำให้ลูกงับนมได้ไม่ลึก
- ให้บีบน้ำนมออกโดยให้บีบรอบๆ ลานนม (หรือเครื่องปั๊ม)
- เมื่อหัวนมอ่อนนุ่มและแหลมขึ้น ลูกจะงับได้ง่ายขึ้น


นมแม่ต้องฝึกฝน จะสำเร็จได้ แม่ต้องฝึกอุ้มและสังเกตลูก ส่วนลูกก็ต้องเรียนรู้ในการดูดเต้าแม่

เลือกพบกุมารแพทย์ ที่สนับสนุนนมแม่
หากนมแม่ไม่พอ คุณหมอควรช่วยค้นหาสาเหตุและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอะอะก็เสริมนมผง

ขอความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา ไปคลินิกนมแม่ หรือปรึกษาแม่อาสา


งดใช้ขวดนมในระยะ 2 เดือนแรกโดยเด็ดขาด
- ให้ดูดจากเต้าเท่านั้น เพราะน้ำนมจากขวดที่ไหลเร็ว ทำให้ลูกดูดนมแม่แล้วหงุดหงิด มีโอกาสปฏิเสธเต้าแม่สูงขึ้น
- ทารกที่ได้รับน้ำนมผ่านขวดตั้งแต่ที่รพ.จะได้รับการฝึกดูดเต้าแม่ไม่เพียงพอ เมื่อกลับบ้านอาจมีปัญหาดูดนมแม่
- ทารกที่ชอบดูดนมจากขวด จะไม่อ้าปากกว้างแต่งับตื้นๆ ดูดนมแม่ไม่ลึก แม่จะเจ็บ หัวนมจะแตก
- หากมีความจำเป็นที่ต้องป้อนน้ำนมแม่ตอนแม่ไม่อยู่ ควรใช้ถ้วยใบเล็ก (cup feeding) หรือ ช้อนค่อยๆ ป้อน

น้ำนมเพียงพอหรือไม่ สังเกตดังนี้
- นับจำนวนผ้าอ้อมเปียก (ผ้าอ้อมผ้า 6-8 ผืนชุ่มใน 24 ชม. หรือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 4-5 ชิ้น)
- ถ่ายเป็นสีเหลืองทองหรือเหลืองนวล นิ่มคล้ายยาสีฟัน บ่อยได้ถึง 10 ครั้งต่อวัน (ในช่วงเดือนแรก ในเดือนที่สองอาจไม่อึหลายวันเพราะลำไส้ทำงานดีขึ้น) อาจดูเหมือนเมล็ดมะเขือ มีมูกยืดบ้าง กลิ่นไม่รุนแรง
- หลังลูกดูดนมเสร็จ เต้านมแม่อ่อนนุ่มลง
- ลูกสงบลง แลดูมีความสุขและพอใจหลังได้ดูดนมแม่ อาจนอนหรือไม่นอนหลับหลังดูดนมก็ได้


ไม่เสริมนมผง หรือนมของแม่คนอื่น
เมื่อลูกอิ่มแล้วจะไม่ดูดกระตุ้นจากที่เต้าของแม่ ทำให้น้ำนมแม่ไม่มากเท่าที่ลูกต้องการ

ลูกหงุดหงิดเมื่อดูดนมแม่ มีไม่กี่สาเหตุหลัก แต่ไม่ใช่นมแม่ไม่พอ
1. ถ้าลูกเคยกินนมจากขวด ลูกอาจเริ่มชินกับน้ำนมที่ไหลเร็วทันใจ งับปุ๊บก็ไหลปั๊บ แต่นมแม่จะไหลหลังดูดประมาณ 1 นาที (กลไกธรรมชาติของการหลั่งน้ำนม) จึงทำให้หงุดหงิดรำคาญ เป็นอาการแรกเริ่มของอาการ"ติดจุก" (กรุณาดูวิธีแก้ในหัวข้อต่อไป)
2. ถ้าลูกไม่เคยกินนมจากขวด ลูกอาจหงุดหงิดเพราะน้ำนมพุ่งแรงเกินไป แม่สามารถบีบน้ำนมออกบ้างเพื่อลดแรงฉีดของน้ำนม
3. สาเหตุอื่นๆ ที่พึงพิจารณาคือ อากาศร้อน ง่วง ไม่สบายตัว เปียกชื้น เสียงดังสภาพแวดล้อมไม่สงบ เป็นต้นค่ะ

ถ้าลูกเริ่มติดจุก ให้ดูดแต่เต้าแม่เท่านั้นและงดขวดโดยเด็ดขาด
เวลาลูกเจอเต้าแม่แล้วหงุดหงิด พองับเต้านมแม่ให้หยดน้ำนมลงที่มุมปากของลูก เพื่อหลอกว่าน้ำนมไหลแล้ว ช่วยลดความหงุดหงิดลงได้ ถ้าลูกแลดูไม่หงุดหงิดแล้วก็ไม่ต้องหยดน้ำนม


แม่เหนื่อยมาก ลูกยังไม่รู้จักกลางวันหรือกลางคืน แม่ควรงีบพักเมื่อลูกนอนหลับ หาผู้ช่วยงานบ้านเมื่อเป็นไปได้ (หรือปล่อยวางบ้างก็ได้) 2-3 เดือนผ่านไป ลูกจะเริ่มปรับเวลากลางวันกลางคืนได้ดีขึ้น

น้ำและอาหารเสริมเป็นของคู่กัน เมื่อลูกอายุ 6 เดือน
นมแม่มีน้ำถึง 88% มากพอสำหรับความต้องการของลูก
ลูกจะพร้อมรับอาหารตามวัยตอน 6 เดือน ให้อาหารเสริมเร็วอาจทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลำไส้ทำงานหนัก

สาเหตุที่ทำให้นมแม่น้อย
1. เสริมนมอื่น ไ่ม่ว่าจะเป็นนมผงหรือนมบริจาค
2. ไม่ให้ลูกดูดบ่อย (ทุก 2-3 ชม.)
3. แม่รับอาหารไม่เพียงพอ อดอาหาร
4. ลูกดูดไม่ถูกวิธี อาจมีผังผืดใต้ลิ้น ฯลฯ แม่รู้สึกเจ็บ
5. ปล่อยให้เต้าคัดนานๆ ไม่บีบออก
6. ความเครียดของแม่ ลดการหลั่งของน้ำนม


ลูกดูดนมทั้งวัน แปลว่านมไม่พอหรือเปล่า?
- ทารกหลายคนที่ "กินเก่ง" ร้องขอดูดทั้งวัน ไม่ใช่เพราะลูกหิว แต่เป็นเพราะธรรมชาติที่สร้างให้ลูกพอใจที่ได้ดูดนมแม่ บางคนร้องขอดูดเป็นชั่วโมง ดูดๆ หลับๆ ก็ต้องดูด นี่คือ suckling reflex ที่ธรรมชาติสร้างให้ลูกดูดกระตุ้นมากๆ น้ำนมแม่จะได้สร้างมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้แม่สร้างอาหารให้ลูกอยู่รอดได้ เมื่อ 3 เดือนอาการนี้จะลดลง
- เมื่อลูกร้องดูดทั้งวัน แม่ควรนอนตะแคงให้ลูกตะแคงดูด เพื่อบรรเทาความอ่อนล้าให้แม่งีบหลับเมื่อลูกหลับ

วิธีเพิ่มน้ำนม
1. ให้ลูกดูดบ่อยๆ (ประมาณ 8 มื้อใน 24 ชม.) ลูกยิ่งดูด น้ำนมยิ่งมาก
2. ไม่เสริมนมอื่นๆ
3. หากลูกนอนยาวเกิน 3-4 ชม. แม่ควรปั๊มน้ำนมออก
4. ปั๊มหลอก (ปั๊มลม/ขโมยปั๊ม) หลังลูกอิ่มแล้ว ร่างกายจะเข้าใจว่าลูกกินเก่งและจะสร้างน้ำนมเพิ่มเพื่อให้พอกับความต้องการของลูก
5. ดูแลร่างกายแม่ด้วยอาหารสดสะอาด 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นอย่างน้อย 2 ลิตร งดเครื่องดื่มคาเฟอีนเพื่อให้นอน พักผ่อนมากๆ ทานอาหารเพิ่มน้ำนมเช่นสมุนไพร พีชผักต่างๆ
6. พยายามผ่อนคลายจิตใจให้สบาย บริหารความเครียดด้วยการไม่กังวลกับอะไรที่ยังมาไม่ถึง

สต็อกนม ทำตอนไหนดี
แม่สามารถปั๊ม/บีบออกหลังลูกกินอิ่มแล้ว
ค่อยๆ ปั๊มหรือบีบมือหลังทุกๆ มื้อ เก็บในขวดเดียวกันแล้วเทรวมได้ค่ะ
ในช่วงเดือนแรกหากลูกดูดตลอด บางทีปั๊มด้วยเครื่องจะปั๊มไม่ออก
ก็ให้ลูกดูดไปเพราะจะได้ช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมามาก
เดือน 2-3 จะพบว่าน้ำนมเพิ่มขึ้นมาก
ถ้าลาคลอดได้ 3 เดือน เดือนสุดท้ายค่อยทำสต็อกก็ยังทันค่ะ


ที่สำคัญ คอยเติมความมั่นใจในนมแม่ มีคำถามให้หาคำตอบ อย่าเชื่อสื่อโฆษณา
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด สะอาดที่สุด และเหมาะที่สุดสำหรับทารก ซึ่งจะไม่มีนมชนิดอื่นมาเทียบเคียงได้ เสมือนความรักของแม่ที่มีแด่ลูก


ขอให้มีความสุขกับการให้นมแม่
- ลูกจะโตและเปลี่ยนแปลงทุกวัน อย่าเพิ่งกังวลว่าจะเหนื่อยเช่นนี้ตลอดไป
- ลูกจะพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น เริ่มนอนนานขึ้น ยิ้มเก่ง คุยอ้อแอ้ แม่ก็จะรู้ใจลูกมากขึ้น ทุกๆ วันจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้กันไป ขออย่าเพิ่งกังวลไปไกล ค่อยๆ ทำทุกวันให้ดี ดูไปทีละมื้อนม ค่อยๆ สังเกตไป เข้าใจลูกว่าลูกพยายามจะสื่อสาร ขอให้นึกเสมอว่าลูกยังไม่ชินกับโลกนอกมดลูก ให้โอบกอดลูกบ่อยๆ ให้นมให้ลูกสบายใจ

อย่าลืมว่า นมแม่ พอแน่ๆ
- ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องและด้วยความเข้าใจ
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ย่อมเหนื่อยบ้าง ขอให้อดทน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าสำหรับลูก ตั้งแต่วันนี้ไปจนลูกโต


ขอบอก ข้อดี (แบบย่อๆ) ของนมแม่ ก่อนจบนะคะ
สำหรับแม่
มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำหนักลดลงเร็ว สุขภาพดี ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ไม่ต้องลางานเพราะลูกไม่ค่อยป่วย
สำหรับพ่อ
ประหยัด ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์อื่นๆ ไม่ต้องช่วยล้างนึ่งขวดนม
สำหรับลูก
สุขภาพดี ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ค่อยป่วย ถ้าป่วยจะป่วยน้อย หายเร็ว เพราะได้รับภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะลดโอกาสการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ (-10%)โรคเบาหวาน (-40%)
สำหรับนายจ้าง
ลูกจ้างไม่ต้องลาเพราะลูกป่วย และต้องมีวินัยในการทำงานเพราะต้องเจียดเวลาไปปั๊มนม
สำหรับสังคม
แม่ลูกจำเป็นต้องใกล้ชิด เสริมสร้างสายใยและความสัมพันธ์ในครอบครัว
สำหรับเศรษฐกิจ
ช่วยรักษาดุลการค้า ไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรเพื่อผลิตนมผง เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนลดลง เศรษฐกิจพอเพียง ประหยัดได้เดือนละ 3,000-4,000 บาทต่อหนึ่งครัวเรือน
สำหรับประเทศ
ประชากรสุขภาพดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประหยัดงบประมาณการรักษาโรคจากความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพราะนมแม่ทำให้สุขภาพดีไปจนโต
สำหรับโลก
ลดโลกร้อน ไม่ต้องใช้เครื่องจักรผลิตนม ช่วยลดขยะ (กระป๋อง ขวด จุกนม ฯลฯ) ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น (ต้มนึ่งขวดนม)

ที่มา : http://www.thaibreastfeeding.org/component/option,com_fireboard/Itemid,95/func,view/id,94493/catid,2/limit,10/limitstart,0/

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สิ่งที่เราเก็บไว้ให้ลูกดู

                            สิ่งที่เราเก็บไว้ให้ลูกดู
                            พอทับทิมเกิด ทางรพ.ก็ใส่ป้ายข้อมือ ข้อเท้า แล้วมันหลุดจากเท้าทับทิมมา เราเลยเก็บไว้ เผื่อไว้ทับทิมโตมาจะให้ทับทิมดู เพราะเป็นสิ่งของสิ่งแรกที่ทับทิมใส่

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมหลังคลอดสำหรับลูก

  1. เบาะนอน
  2. มุ้งกันแมลง ยิ่งหน้า
  3. อุปกรณ์อาบน้ำ
  4. ยา
  5. เสื้อผ้า
  6. ตระกร้าใส่ของ
  7. อุปกรณ์ซักผ้า
  8. อุปกรณ์ล้างขวดนม
  9. ผ้ายางหรือผ้ารองกันเปื้อน
  10. ผ้าอ้อม
  11. ของเล่น

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ฉีดวัคซีนตอน 4 เดือน

                             เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ทับทิมครบ 4 เดือนพอดี เลยพาทับทิมไปฉีดวัคซีน มีDTaP1,IPV2,Hib1 ที่ Hib1 เพราะว่าเข็มแรกเราพาไปฉีดที่อนามัย แต่ทับทิมไข้สูง สงสารลูกเลยพาไปฉีดที่คลินิค เพราะว่าเป็นวัคซีนชนิดไร้เซลล์ ส่วนของอนามัยเป็นแบบมีเซลล์ (แต่แล้วหลังฉีดก็ยังมีไข้สูงอยู่ดี) และก็พาไปหยอดวัคซีนโรต้าด้วย มีตัวยาประมาณ 3 ซีซี (ดูจากหลอดยานะ) ทับทิมกินยายากมาก ร้องดังมากๆ คลินิกแทบจะแตก คนไข้แทบจะหนีกันทีเดียว กินเสร็จสักพักไม่ถึง 1 นาที ทับทิมก็อ๊วกออกมาอาจเพราะว่าร้องมากเกินเลยอ๊วก  หมอเด็กบอกว่าเพิ่งเคยเจอนะนี้ที่อ๊วกยาออกมา เราถามว่ามีแพ้ยาไหม หมอเด็กว่าไม่น่าแพ้ หมอเลยต้องให้กินอีกโด๊ส คราวนี้ร้องมากกว่า ดังกว่าครั้งแรกอีก ไม่รู้ว่ายารสชาติเป็นยังไง ทับทิมถึงไม่ร้องมากเลย  ร้องแบบไม่พอใจ ไม่ใช่ร้องไห้นะคะ พอกินวัคซีนโรต้าเสร็จก็จับมาห่อตัวฉีดยาทันทีเลย (หมอคงเสียเวลากับทับทิมนานพอสมควรแล้วละ) ตอนฉีดยาร้องแป๊ปเดียวก็หยุดเลย พอตอนจ่ายยา หมอคิดค่าวัคซีนโรต้าครั้งเดียว คือราคาโด๊สละ 950 ส่วนวัคซีนรวมแบบไร้เซลล์ราคา 1100 บาท ก็เลยจ่าย 2050 บาท แทนทีจะจ่าย 3000 บาท หมอก็ใจดีคิดแค่โด๊สเดียว
                              ตอนเลือกวัคซีนที่คลินิค หมอเอาตารางมาให้ดู เราก็แอบดูว่าตารางนี้มาจากไหน กลับมาบ้านเลย หาข้อมูลได้ข้อมูลมาเลยนำมาแบ่งปันกันคะ
                              จากตารางข้างล่างจะเห็นว่าวัคซีนที่ฉีดที่อนามัย หรือโรงพยาบาลรัฐเป็นแบบมีเซลล์ ซึ่งจะทำให้เด็กมีไข้สูง และปวดกล้ามเนื้อ มากกว่าวัคซีนเสริมที่เป็นแบบไร้เซลล์คะ และวัคซีนเสริมจะมี Hib เพิ่มมาอีกตัวคะ เราก็พึ่งรู้เหมือนกันนะตอนที่หมอเด็กบอก
                              อย่างทับทิม 2 เดือนไปฉีดที่อนามัย เลยไม่ได้มี Hib พอเราพามาฉีดที่คลินิก ตอนที่ 4 เดือนก็ต้องนับ Hib เป็นเข็ม 1 ใหม่คะ แล้วพอ 6 เดือนก็จะนับเป็นเข็มที่ 2 พอ 8 เดือนนับเป็นเข็มที่ 3 ก็ไปฉีดแต่ Hib อย่างเดียวคะ
                              ส่วนวัคซีนโรต้านั้น  ควรหยอดให้ครบก่อน 6 เดือนนะคะ เราพาทับทิมไปหยอดโด๊สแรกตอน 4 เดือน โด๊สที่ 2 ตอน 6 เดือน หมอเด็กว่าทันอยู่คะ


ถ้าใครอยากได้คลิกลิงค์ตรงนี้ไปดาวน์โหลดได้เลยคะ ตารางการฉีดวัคซีน
ขอขอบคุณตารางจาก : เว็บสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

                             พอดีเข้าไปหาข้อมูลในเว็บสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ก็เจอข้อมูล เกี่ยวกับ การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เลยแนะนำให้ลองไปศึกษากันดูคะ

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

10 วิธี...กระตุ้นลูกน้อยในครรภ์

10 วิธี...กระตุ้นลูกน้อยในครรภ์

ตั้งครรภ์

10 วิธี...กระตุ้นลูกน้อยในครรภ์
(modernmom)
โดย: โอบา

          คุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมเด็กแต่ละคนเกิดมามีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน เด็กบางคนอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย ไม่โยเย ขณะที่เด็กบางคนเลี้ยงยากเหลือเกิน เรื่องนี้ เราคงต้องย้อนกลับไปหาคำตอบกันตั้งแต่แรกเริ่มที่คุณแม่ตั้งครรภ์ กันเลยทีเดียวค่ะ

กระตุ้นแต่ในครรภ์สำคัญไฉน

          ขณะที่ลูกน้อยเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ เขาไม่เพียงเติบโตทางด้านร่างกายเท่านั้น หากยังพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจควบคู่กันไปด้วยค่ะ

          นับตั้งแต่คุณแม่ ตั้งครรภ์ได้ 2-3 เดือน สมองของลูกน้อยเริ่มทำงานและรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว พอ 3-4 เดือนประสาทหูและประสาทตาของลูกเริ่มทำงานได้ดีขึ้น ทำให้สามารถรับรู้เสียงที่ดังขึ้นและแสงที่จ้าจากภายนอกได้แล้ว กระทั่งอายุครรภ์ได้ 5-6 เดือน ประสาทสัมผัสต่างๆ ของลูกในครรภ์สมบูรณ์เต็มที่ ส่งผลให้ลูกน้อยไวต่อการสัมผัส รวมถึงสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และสื่อสารให้คุณแม่รับรู้ได้ด้วยการเคลื่อนไหว เตะ ถีบ เป็นต้น

          คุณแม่คงพอจะเห็นแล้วว่า ลูกน้อยสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และที่สำคัญคือ ลูกสามารถเรียนรู้และซึมซับอารมณ์ของแม่ได้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้เอง ที่จะนำไปสู่พื้นฐานทางอารมณ์และจิตใจที่ดีของลูกต่อไปในอนาคต

          แล้วอย่างนี้จะรอช้าอยู่ไย มากระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยกันเสียตั้งแต่ในครรภ์ดีกว่า เพื่อลูกจะได้เติบโตและมีพัฒนาการดีรอบด้านค่ะ

10 วิธี ง่าย ๆ ช่วยกระตุ้นลูกรักในครรภ์

          บรรทัดต่อจากนี้ไป จะเป็นวิธีการกระตุ้นพัฒนาการด้านอารมณ์ และจิตใจของลูกน้อยในครรภ์อย่างง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้ทันทีค่ะ

1. คิดบวกไว้ก่อน

          การพยายามมองโลกในแง่บวก นอกจากจะช่วยให้คุณแม่สามารถจัดสมดุลทางอารมณ์ของตัวเองได้ดีแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้สึกดี ๆ ในการเกิดและมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ด้วย ลองนึกดูสิคะ ถ้าตลอดเวลาที่อยู่ในท้องแม่ ลูกรับรู้แต่อารมณ์หงุดหงิด หดหู่ หรือไม่ได้ดั่งใจของแม่ตลอดเวลา ร่างกายที่ตึงเครียดจากอารมณ์ที่ไม่สงบ ย่อมส่งสัญญาณไปถึงลูกน้อยได้ ดังนั้น การที่คุณแม่มองโลกในแง่ดี จิตใจผ่องใส พูดคุยถึงแต่เรื่องดี ๆ จึงเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้ลูกรับรู้แต่เรื่องดี ๆ และอยากจะเกิดมาใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้มากขึ้นค่ะ

2. ไม่เครียด

          ความเครียดของแม่ส่งผลต่อลูกในครรภ์โดยตรง เพราะนอกจากความเครียดจะทำให้ลูกคลอดออกมาเป็นเด็กขี้แย โยเย และเลี้ยงยากแล้ว ฮอร์โมนของความเครียดนี้ ยังจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของสมองลูกอีกด้วย เพราะสเตียรอยด์จากเปลือกหมวกไต จะเพิ่มระดับสูงขึ้นยามที่คนเราเกิดความ รู้สึกเครียดหรือถูกกดดัน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างสมองส่วนเส้นใยประสาท ทำให้ระดับเชาวน์ปัญญาของลูกลดต่ำลงในที่สุด

3. หายใจลึก ๆ เข้าไว้

          การหายใจเข้าลึก ๆ เป็นวิธีง่าย ๆ แต่เวิร์กสุด ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ในยามที่รู้สึกว่ากำลังถูกความเครียดคุก คาม แถมยังส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ เพราะเมื่อคุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ลูกน้อยสามารถสัมผัสถึงความสุขสงบภายในตัวแม่ และรับรู้ถึงความรักที่แม่มีต่อเขาได้ตลอดเวลา พัฒนาการทางสมองของลูกก็เป็นไปด้วยดี แถมสารเคมีในสมองยังได้รับการพัฒนาขึ้นมา เพื่อปกป้องลูกน้อยจากฮอร์โมนความเครียด และช่วยให้เขาสามารถจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ เมื่อโตขึ้นด้วย

4. พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ

          เสียงพูดหรือเสียงร้องเพลงของคุณแม่ จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านอารมณ์ความรู้สึก ของลูกน้อยได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะขณะที่คุณแม่พูดคุยหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง ลูกจะตั้งใจฟังอย่างดี พิสูจน์ได้จากอัตราการเต้นของหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะช้า ๆ รวมทั้งยังช่วยให้ลูกดูดกลืนน้ำคร่ำได้เร็วกว่าปกติอีกด้วย

5. ยิ้มรับทุกสถานการณ์

          การยิ้มจะช่วยให้ "เซโรโทนินฮอร์โมน" หรือฮอร์โมนอารมณ์ดีแผ่กระจายไปในกระแสเลือด และส่งผ่านสู่ลูกน้อยในครรภ์ให้รู้สึกผ่อนคลายและสุขสงบได้ ทุกครั้งที่คุณยิ้ม รู้ไหมว่าลูกในครรภ์ก็กำลังพยายามจะยิ้มอย่างที่คุณทำด้วยเช่นกัน


6. เล่นสนุกกับลูก

          การเล่นเกมกับลูกในครรภ์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เกมเตะเลยลูก ที่วิธีเล่นก็แสนง่าย เพียงแค่เวลาที่ลูกเตะหรือศอก ให้คุณแม่สัมผัสตรงบริเวณที่ลูกเตะ แล้วพูดกับลูกว่า "เตะเลยลูก เตะอีก ๆ" จากนั้นลองสัมผัสท้องส่วนอื่น ๆ เพื่อให้ลูกในท้องเป็นฝ่ายไล่ตามสัมผัสบ้าง โดยขณะที่สัมผัสท้องก็ให้คุณแม่พูดคำเดิมค่ะ


7. ผักช่วยได้

          ลูกน้อยจะพัฒนาประสาทการรับรสได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์แล้วค่ะ และการเลือกกินอาหารของคุณแม่ จึงส่งผลต่อความพึงพอใจในการกินอาหารของลูก น้อยด้วยเช่นกัน มีการศึกษาชิ้นหนึ่งได้ทดลองแบ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ให้คุณแม่ดื่มน้ำ บร็อกโคลี กลุ่มที่ 2 ดื่มน้ำแครอต และกลุ่มที่ 3 ดื่มน้ำเปล่าทุกวัน หลังจากนั้นก็ตามดูว่า เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว พฤติกรรมการกินอาหารเหลวครั้งแรกของเด็ก ๆ เป็นอย่างไร พบว่าเด็ก ๆ จะกินอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำผัก ที่แม่เคยดื่มระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าอาหารอื่น ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า การกินผักของแม่ในช่วงตั้งครรภ์จะช่วยให้ลูก ๆ กินผักเหล่านั้นได้เมื่อเติบโตขึ้น

8. นวด นวด นวด

          การนวดเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทลูกน้อยให้รู้สึกสบายและผ่อนคลาย เพียงคุณแม่ลองหาช่วงเวลาสงบ เอนกายท่าที่สบาย ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก อาจจะเปิดเพลงบรรเลงคลอเบา ๆ ไปด้วยก็ได้ค่ะ จากนั้นเอาน้ำมันสกัดจากธรรมชาติ เช่น มะกอกหรือมะพร้าว ถูที่มือเบา ๆ (ควรเลี่ยงใช้น้ำมันจากเมล็ดอัลมอนต์ และน้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ ตอนตั้งครรภ์ค่ะ) แล้วค่อย ๆ ลูบไล้ไปที่ท้องอย่างแผ่วเบาแต่ลุ่มลึก โดยเน้นบริเวณที่สัมผัสถึงลูกน้อย แต่ถ้าเมื่อไรที่ลูกเตะให้หยุด แล้วค่อยนวดต่อหลังจากที่ลูกหยุดเตะแล้วค่ะ

9. ออกกำลังกาย

          การออกกำลังกายของคุณแม่ ช่วยให้ลูกในครรภ์อารมณ์สงบและผ่อนคลาย เพราะขณะที่คุณแม่ออกกำลังกายในท่วงท่าและระยะเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ออกซิเจนไหลผ่านกระแสเลือดของลูกน้อยได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตโดยเฉพาะสมอง และหลังออกกำลังกาย ร่างกายก็จะหลั่งสารเอ็นดรอฟิน ที่ช่วยให้คุณแม่และลูก รู้สึกถึงความสุขสงบไปได้อย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว

10. มอบความรักแก่คนรอบข้าง

          ขณะที่คนเรามีความรัก ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแห่งความรัก ที่ชื่อ "ออกซิโตซิน" ขึ้นมา ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวเดียวกันกับที่ทำให้คุณแม่รู้สึกรัก และผูกพันกับลูกมากขึ้น การมอบความรักความปรารถนาดีต่อคนรอบข้าง จึงช่วยให้ร่างกายของแม่หลั่งออกซิโตซินมากขึ้น และฮอร์โมนทั้งหมดที่ส่งผ่านรกไปสู่ลูก จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกเช่นเดียวกันกับคุณด้วย

          หวังว่าวิธีเหล่านี้ คงจะไม่ยากเกินกว่าที่คุณแม่จะตัดสินใจทำทันทีในวันนี้ เพื่อให้ได้ลูกที่ดีมีคุณภาพในวันหน้าค่ะ

คุณพ่อก็มีส่วนร่วมได้

         คุณพ่อก็สามารถช่วยคุณแม่สร้างสัมพันธภาพกับลูกได้ไม่ยากเลย เพียงแค่

        หมั่นพูดคุยกับลูก เพราะความจริงแล้ว ลูกน้อยในครรภ์จะสามารถฟังเสียงทุ้ม ๆ ของคุณพ่อได้ดีกว่าเสียงเล็ก ๆ ของแม่เสียอีก

        สัมผัสลูบคลำท้องคุณแม่ เพื่อรับรู้ความรู้สึกขณะที่ลูกเคลื่อนไหว และจูบที่ท้องของคุณแม่เบา ๆ เพื่อส่งผ่านความรักถึงลูกน้อย
ที่มา : http://women.kapook.com/view17171.html

ฝึกลูกอย่างไร ให้มีมารยาทบนโต๊ะอาหาร

ฝึกลูกอย่างไร ให้มีมารยาทบนโต๊ะอาหาร

baby - mom

ฝึกลูกน้อยอย่างไรให้มีมารยาทบนโต๊ะอาหาร (Woman's Story

          คุณแม่หลาย ๆ บ้านคงจะเคยปวดหัวกับการฝึกให้ลูกน้อยมีมารยาทในการทานบนโต๊ะอาหาร เพราะหันไปทีไรก็ดูจะเลอะเทอะไปซะทุกครั้ง ดังนั้นเพื่อให้การฝึกได้ผลมากยิ่งขึ้นจึงของัดเอากลเม็ดดี ๆ มาแนะนำให้คุณแม่ได้นำฝึกลูกน้อยกันค่ะ

          เริ่มแรกเลย ควรจะฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหารให้ลูกตัวน้อย ตั้งแต่เขาเริ่มนั่งรับประทานอาหารบนเก้าอี้สูงสำหรับเด็ก (High Chair) ได้ โดยขั้นตอนง่าย ๆ คือเริ่มจากให้ลูกรักนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับคุณด้วย เพื่อที่ลูกจะได้เห็นมารยาทที่ถูกต้องจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งวิธีการทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างนั้นน่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลดี โดยคุณอาจจะเริ่มตั้งแต่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนส้อมตักอาหารอย่างสุภาพ กล่าวขอบคุณทุกครั้งที่มีคนตักอาหารให้ ไม่อ่านหนังสือ หรือดูโทรทัศน์ขณะรับประทานอาหาร อย่างนี้เป็นต้น แน่นอนว่าเจ้าตัวเล็กที่มักจะต้องการทำให้คุณพอใจ เขาจะจดจำพฤติกรรมของคุณและปฏิบัติตาม

          ในกรณีที่ลูกชอบทำพฤติกรรม ที่เหมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ระหว่างการทานอาหาร หรือยังติดการทานแบบเลอะเทอะ รวมทั้งการทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้างนั้น มีวิธีจัดการอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ แบบแรกทำเป็นไม่สนใจ โดยไม่ว่าลูกจะหว่านข้าวไปทั่วโต๊ะ ส่งเสียงกรี้ด หรือคายข้าวทิ้งในชาม คุณพ่อคุณแม่ก็เฉยเสีย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในที่สุดลูกก็จะเลิกพฤติกรรมดังกล่าวไปเอง

          เมื่อเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำไม่สามารถเรียกร้องความสนใจจากคุณได้ แบบที่สอง คือ หาทางแก้ไข เช่น เช็ดปากให้ลูกทุกครั้งที่เขาบ้วนอาหารออกมาเลอะปาก จนหนูน้อยหยุดบ้วนอาหารไปเอง หรือเมื่อเขาใช้มือหยิบอาหาร ก็จับช้อนใส่ในมือของลูก ในขณะเดียวกันพ่อแม่บางครอบครัว ก็จะพาลูกน้อยออกจากโต๊ะอาหารเพื่ออธิบายถึงกิริยาที่ไม่เหมาะสม

          อย่างไรก็ตามการฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหารให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็น ค่อย ๆ สอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และต้องเข้าอกเข้าใจลูกน้อยด้วยว่าเขาสามารถทำได้แค่ไหน และควรจะแก้ไขตรงไหนอย่างไร รับรองว่า ในไม่ช้าเขาก็จะสามารถทานได้เองโดยไม่เลอะเทอะได้อย่างสบาย ๆ ค่ะ

ลูกพูดช้า อยู่ที่พ่อแม่

ลูกพูดช้า อยู่ที่พ่อแม่

พ่อ,แม่,ลูก

ลูกพูดช้า อยู่ที่พ่อแม่
(modernmom)
โดย: สุภาวดี หาญเมธี

          เจ้าตัวเล็กผมหยิกหยอยตัวบาง ๆ ยืนคอยรถเมล์อยู่ข้าง ๆ แม่ เสียงพูดจ๋อย ๆ ไม่มีหยุด เดี๋ยว ๆ ก็กระตุกแขนแม่..."แม่จ๋า"... ถามโน่นถามนี่ จนคนที่คอยอยู่ป้ายเดียวกันอดอมยิ้มด้วยความเอ็นดูเสียมิได้ แม่ค้าข้าวโพดต้มประจำป้ายเตาปูนพูดขึ้นลอย ๆ "เด็กอะไร้ช่างพูดจัง ฉลาดนะเนี่ย"...

          ใคร ๆ ก็รู้ว่าเด็กพูดเร็ว พูดมาก มักฉลาด เพราะการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ เด็กพูดเร็วแสดงว่าพัฒนาการของสมองส่วนที่เกี่ยวกับภาษามีความพร้อม และเมื่อเด็กพูดได้มาก ข้อมูลที่ได้จากการสื่อสารกับผู้คนรอบข้าง ก็จะกลับไปพัฒนาความสามารถของสมองเพิ่มขึ้นอีก แกจะเข้าใจอะไรได้ง่าย ยิ่งถามก็ยิ่งได้ข้อมูล ยิ่งได้ข้อมูลก็ป้อนเข้า สู่กระบวนการคิด ยิ่งคิดสมองก็ได้ฝึกฝนทำงาน

          ในทางตรงกันข้าม เด็กพูดช้า พัฒนาการหลาย ๆ ด้านอาจช้าไปด้วย

          เมื่อได้รับคำถามในรายการทาง UBC 7 (21.00-22.00 วันศุกร์) ว่า ปัจจุบันปัญหาของเด็กเล็กที่น่าเป็นห่วงมีอะไรบ้าง ท่านศาสตราจารย์แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา คุณหมอขวัญใจของพ่อแม่ทั้งประเทศ ตอบว่า หนึ่งในปัญหาที่ท่านเป็นห่วงคือเด็กเล็กสมัยนี้พูดกันช้ามาก 2-3 ขวบแล้วยังไม่พูด ปัญหานี้พบมากขึ้น!!!

          พ่อแม่พาไปตรวจสภาพในช่องปากก็ไม่มีปัญหาอะไร ..ลิ้น..ปาก.. เพดาน..ปุ่มเหงือก..ฯลฯ อวัยวะทุกอย่างที่เกี่ยวกับการพูดก็เป็นปกติดี...แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือเด็กๆ ไม่ค่อยมีคนพูดด้วย เพราะพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน พ่อแม่ไม่มีเวลา พี่เลี้ยงไม่ช่างพูด ช่างคุย ช่างเล่น น้องเลยไม่ค่อยได้ฝึกการพูด ท่านบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนที่พูดด้วย ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับภาษาแม่... เป็นพี่เลี้ยงพม่า (หรือกะเหรี่ยงลาว) น้องเลยสับสน... ???

          สุดท้ายน้องก็ไม่พูดซะเลย... ที่หยิบมาพูดอย่างนี้ เราไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ใครหรอกนะคะ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนเป็นเพื่อนเกิดแก่ เจ็บ ตาย ของเราทั้งสิ้น เพียงแต่เราไปเกิดอยู่ในคนละพรมแดน คนละวัฒนธรรมเท่านั้น ไม่ว่าน้องได้พี่เลี้ยงเป็นใครถ้าต่างสำเนียงภาษา...น้องสับสนได้พอ ๆ กันแหละ

          ดิฉันไม่ติดใจว่าใครเป็นพี่เลี้ยง แต่ติดใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องให้คนอื่นเลี้ยงลูกของตนเอง บ้านที่มีปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่ไว้ใจได้ว่าดูแลลูกของเราให้ปลอดภัยได้ ให้เติบโตมีพัฒนาการที่ดีทั้งร่างกาย สุขภาพจิต และสติปัญญา ถ้าพ่อแม่จะไม่เลี้ยงเอง ฝากลูกไว้ให้ท่านเลี้ยงคงไม่เป็นปัญหานักอาจโชคดีเสียด้วยซ้ำ

          แต่บางครอบครัวที่ไม่มีญาติผู้ใหญ่ให้พึ่งพิง ..มีลูกแล้ว...เอาลูกไปฝากไว้ในความดูแลของใคร ?

          ใครก็ไม่รู้ซี??... พี่เลี้ยงบางคนเพิ่งรู้จักหน้ากันมาไม่กี่วัน บางคนอายุเพียง 12-13 ปี บางคนเพิ่งมาจากบ้านนอก บางคนไม่เคยเลี้ยงเด็กมาก่อนเลย แล้วเราวางใจได้อย่างไร... ถ้าเกิดอุบัติเหตุ?!! ถ้าเขาทำพลาดเพราะความไม่รู้ เพราะอ่อนประสบการณ์ ถ้าใจเขาไม่ทนกับเด็ก... ถ้า... ฯลฯ

          ราอาจมีเหตุผลให้กับตัวเองมากมาย ก็พ่อแม่ต้องทำมาหากิน ? แรงเดียวหาเลี้ยงไม่พอ ?

          สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ เหตุผลนี้คงพอเข้าใจได้... แต่สำหรับครอบครัวที่มีโอกาส มีฐานะอยู่แล้วพอประมาณ บางทีก็เข้าใจได้ยากเหมือนกันนะคะกับเหตุผลที่ว่า ทั้งหมดที่ทำก็เพื่ออนาคตของลูก... ???

          เรามักลืมกันว่า ชีวิตเด็กๆ (หรือแม้แต่เราเอง) นั้น สำคัญที่สุดคือวันนี้ ไม่ใช่วันข้างหน้า ไม่ใช่อนาคต

          ยิ่งเด็กเล็ก 3 ขวบ ปีแรกของชีวิต ความปลอดภัยของเขาอยู่ที่วันนี้ สมองต้องไม่ถูกกระแทกหรือบอบช้ำเสียแต่วันนี้ อาหารต้องพอเพียงสมบูรณ์เสียแต่วันนี้ เขาต้องไม่เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะเสียตั้งแต่วันนี้ อารมณ์ดีต้องเริ่มต้นวางรากแต่วันนี้ จิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวความไว้ใจในโลก ความผูกพันกับมนุษย์ต้องพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวัยนี้ พัฒนาการทางสมองของเขามีประสิทธิภาพสูงสุดก็ช่วงวัยนี้

          เลือดเนื้อ กระดูกของเขาเติบโตวันนี้..ทุกๆ วัน ไม่ใช่รอวันพรุ่งนี้ หรือรอไปจนวันที่พ่อแม่ฐานะมั่นคงแล้วจึงค่อยสร้าง หรือค่อยแก้ไข... เพราะถึงวันนั้นก็อาจสร้างหรือแก้ไขไม่ได้แล้ว

          ถึงแม้ว่าพ่อแม่หลายบ้านจะห่างเหินหรือทิ้งจนลูกพูดช้า แต่จากที่ดิฉันได้มีโอกาสพบ คนรุ่นใหม่หลายบ้านเริ่มตระหนักแล้วยอมลงทุนเสียแต่วันนี้ แม่ออกจากงานมาเลี้ยงลูก มาดูแลพัฒนาลูกด้วยตนเองทุกด้าน ไปไหนกระเตงกันไปด้วย ให้กินนมแม่นานเป็นปีพูดคุยกันประจ๋อประแจ๋ อยู่กันกระหนุงกระหนิง ลูกพัฒนาการไปโลด ได้เงินน้อยหน่อยก็ใช้น้อยหน่อย ลงทุนเรื่องเงิน เรื่องฐานะการงานทีหลัง เอาเรื่องลูกก่อน เพราะการงานนั้น ไม่ตายเสียก่อน (และถ้าไม่งอมืองอเท้า) ก็ยังมีโอกาส แต่กับลูกนั้น โอกาสผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่หวนกลับมา วัยหนึ่งขวบ สองขวบ สามขวบ... ผ่านไปแล้ว ยื้อยุดให้กลับมา รอพ่อแม่พร้อมก่อนนะลูก... ไม่ได้

          เรื่องพูดช้าของเด็กเล็กที่ท่านอาจารย์หมอชนิกาติงมานั้น อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่ง แต่แท้ที่จริงอาจเป็นสัญญาณแรก ๆ ของปัญหาพัฒนาการหรือพฤติกรรมในชีวิตของลูกก็ได้ เพราะถ้าพ่อแม่ยังใจแข็ง แม้แต่ลูกอ่อน ๆ ก็ยังกล้าวางไว้ในมือใครก็ไม่รู้ จะหวังได้หรือว่าเมื่อโตขึ้นพ่อแม่คงกลับมาใกล้ชิดเอง?

          ลูกที่พ่อแม่ไม่ใกล้ชิด เห็นกันมามากแล้วค่ะ ว่ายากจะเติบโตด้วยดี ???
ที่มา : http://women.kapook.com/view17321.html

5 เทคนิคให้ลูกน้อยอารมณ์ดี

5 เทคนิคให้ลูกน้อยอารมณ์ดี

baby - เด็กอารมณ์ดี

5 เทคนิคให้ลูกน้อยอารมณ์ดี
(modernmom)

           เมื่อรู้แล้วว่าการทำให้ลูกอารมณ์ดีในนิยามใหม่นั้นมีผลดี และช่วยส่งเสริมต่อการเรียนรู้ของลูกแน่นอน คุณพ่อคุณแม่ก็คงอยากรู้แล้วว่า จะมีเทคนิคอะไรบ้างที่ช่วยให้ลูกอารมณ์ดี อย่างรู้สึกได้ถึงความปลอดภัย Modern Mom มีเทคนิคมาฝากค่ะ

นวด...สบายตัว

           เพียงการลูบไล้ไปตามกล้ามเนื้อช่วงแขนช่วงขา มือ และเท้าของลูกเบา ๆ โดยลงน้ำหนักบริเวณอุ้งมือและหัวแม่มือ เพื่อให้การสัมผัสลื่นขึ้น คุณแม่อาจจะใช้โลชั่นลูบไล้ตามตัวให้ลูกไปด้วย ขณะที่นวดคุณแม่อย่าลืมพูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน แสดงออกถึงอารมณ์ที่ดีของคุณแม่ด้วยนะคะ

           การนวดช่วยกระตุ้นให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่อนคลาย ลูกจะรู้สึกสงบสุขมากขึ้น และจะรับรู้ได้ถึงความรัก ความอบอุ่นที่คุณแม่ส่งผ่านมาให้ เขาก็จะอุ่นใจและมั่นใจว่าจะเติบโตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข

Tips

           ช่วงเวลาที่เหมาะกับการนวด อาจเป็นช่วงหลังอาบน้ำที่เขารู้สึกสบายตัว

           การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โลชั่น ก็ควรเลือกที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ และไม่เหนียวเหนอะหนะเกินไปจนทำให้ลูกเหนียวตัว

ฟังเพลง...สบายใจ

           การเปิดเพลงจังหวะเบา ๆ สบาย ๆ (ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเพลงคลาสสิกหรือโมสาร์ต) ให้ลูกฟัง จะช่วยเรียกความสนใจของลูกให้จดจ่ออยู่กับท่วงทำนอง สงบนิ่งและไม่ร้องไห้โยเย อีกทั้งคนตรียังเป็นหนึ่งในหลายวิธีที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง ทำให้เส้นใยประสาทแตกแขนงมากขึ้น ซึ่งคุณแม่อาจจะไม่ต้องเปิดเพลงเพียงอย่างเดียว แต่ร้องให้ลูกฟังเองก็ไม่ผิดกติกา ถึงแม้จะเสียงไม่ไพเราะแต่ลูกก็อยากฟังเสียงของพ่อแม่มากกว่าค่ะ

เล่น...สนุก

           สำหรับลูกวัยขวบปีแรกนั้น ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเขาก็คือคุณพ่อคุณแม่ โดยการเล่นกับลูกง่ายๆ ที่พ่อแม่สามารถทำได้ โดยไม่ต้องมีทักษะอะไร เช่น

           จ๊ะเอ๋ การเล่นที่ง่ายและสามารถเล่นได้กับเด็กทุกวัย ตั้งแต่เบบี๋จนโต โดยจะเรียกความสนใจจากเจ้าตัวเล็ก ให้รู้จักมักคุ้นกับใบหน้าของคนรอบๆ ตัว

           เก็บของ การเอาของเล่นสุดโปรดของเขา อย่างลูกบอล ตุ๊กตา หรือหมอนไปวางไว้ตรงหน้าในระยะที่ลูกพอเอื้อมถึงให้ได้ไขว่คว้า เป็นการบริหารกล้ามเนื้อลำตัว แขน ขา และยังช่วยฝึกการใช้ประสาทตาให้สัมพันธ์กับมืออีกด้วย

           การที่คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูกนั้น เขาก็จะสนุกสนานไปกับเรา และก็เป็นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายให้แข็งแรง ความพร้อมของกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่าง ๆ ไว้สำหรับการเคลื่อนไหว และมีความพร้อมทางอารมณ์ สำหรับการออกสู่โลกกว้างในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป

จัดบ้าน...ปลอดภัย

           สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ลูกอารมณ์ดีได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควร

            จัดให้ลูกอยู่ในที่ไม่ร้อนไปหรือหนาวเกินไป

            มีพื้นที่ให้เขาได้สำรวจ ได้เล่นอย่างสนุกสนานและปลอดภัย

            จัดมุมที่เป็นมุมเล่นสำหรับลูกโดยเฉพาะ อาจจะปูพื้นจิ๊กซอว์เพื่อความปลอดภัย และมีพื้นที่พอให้ลูกได้คลานออกกำลัง

            การเลือกใช้สีให้เหมาะสม เช่น สีส้ม จะสดใสเหมาะแก่การเล่นและเรียนรู้

            ดูให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับบ้านเราที่มีอากาศร้อน หลายบ้านนิยมติดแอร์ แต่ก็ควรจะมีการสลับในการเปิดหน้าต่างให้มีการถ่ายเทบ้างค่ะ

พ่อแม่อารมณ์ดี...ลูกอารมณ์ดี

           การที่จะให้ลูกน้อยอารมณ์ดีนั้น ก็ต้องเริ่มต้น จากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ถ้าคุณแม่อารมณ์ไม่ดี ลูกก็จะรู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร พ่อแม่ต้องอารมณ์ดี มีการแสดงออกต่อลูกอย่างเหมาะสม สัมผัสลูกก็ต้องทำด้วยความอ่อนโยน พูดจาด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น และมีการตอบสนองต่อความต้องการเขา เช่น เมื่อเขาร้องก็มีคนมาโอบอุ้ม เมื่อเขาหิวก็มีคนมาดูแล ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัย และพร้อมต่อพัฒนาการต่าง ๆ ได้ดี

           Window of Opportunity หรือหน้าต่างแห่งโอกาสของลูกจะอยู่ในช่วง 6 ปีแรก หากคุณพ่อคุณแม่ตอนสนองลูกได้อย่างเหมาะสมเริ่มต้นแต่เนิ่น ๆ และดูแลให้ราบรื่นไปตลอด ก็มั่นใจได้ค่ะว่า หนูน้อยจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุขแน่นอน

ที่มา  : http://women.kapook.com/view17481.html

เลือก Edutainment อย่างสนุกและสร้างสรรค์

เลือก Edutainment อย่างสนุกและสร้างสรรค์ 

Edutainment

เลือก Edutainment อย่างสนุกและสร้างสรรค์
(modernmom)

           ไม่อยากจะเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนค่ะ เพราะหากจะพูดถึง Edutainment เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงจะรู้จักมักคุ้นมากกว่าเป็นไหนๆ แต่การรู้ว่ามีหลากหลาย ก็ไม่เท่ากับว่าใช้ให้เกิดประโยชน์หรือไม่นะคะ

เลือกสื่อ Edutainment ให้ลูก

          Edutainment เกิดจากการสนธิคำศัพท์ 2 คำด้วยกัน คือ คำว่า Education สาระ ความรู้ กับคำว่า Entertainment ความบันเทิง เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ว่า Edutainment ซึ่งมีความหมายว่าการได้รับสาระความรู้ด้วยรูปแบบความบันเทิง เพราะการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สื่อในกลุ่มของ Edutainment แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ

          1.สื่อประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ วีซีดี ดีวีดี หรืออินเตอร์เน็ต

          2.สื่อประเภทอุปกรณ์การเรียนรู้ เช่น เกมเพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ

          3.สื่อประเภทสิ่งพิมพ์ เช่น นิทาน ฯลฯ

          ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย คุณแม่จึงควรรู้วิธีที่จะเลือกสื่อ Edutainment ให้เหมาะกับลูกค่ะ

         เลือกให้เหมาะกับวัย สื่อการเรียนการสอนมีเนื้อหาสาระและวิธีการนำเสนอที่จะเหมาะสม สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย วิธีเลือกเบื้องต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ ดูข้างกล่อง หรือที่เล่ม ซึ่งจะระบุวัยที่เหมาะสมกับเด็ก

         เนื้อหามีประโยชน์ นอกจากการดูคำอธิบายและวิธีการใช้งานที่บอกอย่างละเอียดแล้ว ลองวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ลูกจะได้รับจากสื่อชนิดนั้น ๆ อย่างละเอียดด้วย เช่น หากเป็นลักษณะของการ์ตูนประเภทวีซีดี ควรมีเนื้อเรื่องที่เหมาะสม แฝงด้วยคุณธรรม มีวิธีคิดและวิธีที่แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เหมาะกับวัยของลูก

          นอกจากนั้นตัวละครที่น่ารัก เป็นมิตร หรือหากตัวละครจะมีความสามารถพิเศษเป็นฮีโร่ ก็ควรจะเป็นฮีโร่ที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากจะทำสิ่งดี ๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในสื่อ Edutainment ไม่น้อยก็คือ

         มีเทคนิคช่วยจำ เป็นวัยที่กำลังเก็บสะสมคลังคำให้แก่ตัวเอง เพราะฉะนั้นการเลือกสื่อ Edutainment เช่นการสอนสองภาษาผ่านเสียงเพลง ก็จะช่วยให้ลูกสามารถจดจำคำต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

         ปลอดภัยทั้งเนื้อหาและวัสดุ เริ่มตั้งแต่เนื้อหาที่เด็กจะได้รับนั้น ต้องไม่สื่อและแฝงไปด้วยเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องเพศ และความรุนแรง ที่จะทำลายความไร้เดียงสาของเด็กเร็วเกินไป รวมไปถึงวัสดุของสื่อ ประเภทเกมกระต้นพัฒนาการหรือของเล่นที่เด็กสัมผัสโดยตรงต้องปลอดภัย ซึ่งสังเกตได้จากเครื่องหมาย มอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม)

         ราคาไม่แพงเกินไป เด็ก ๆ แต่ละช่วงวัยเรียนรู้แตกต่างกัน สื่อสำหรับลูกวัย 2 ปี อาจจะง่ายเกินไปแล้วเมื่อลูกอายุ 4 ปี การซื้อด้วยราคาที่แพงแต่ใช้งานไม่คุ้มค่ากับราคา อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียเงินไปโดยใช่เหตุค่ะ

ใช้สื่อกับลูกอย่างถูกวิธี

         รู้ทันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทใด ถ้าจะให้ดีคุณพ่อคุณแม่ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมและศึกษาเนื้อเรื่อง สารประโยชน์ของสื่อแต่ละชนิดอย่างถี่ถ้วน หากคำอธิบายไม่ชัดเจน การหาข้อมูลเพิ่มจากเพื่อนคุณพ่อคุณแม่ด้วยกัน จะทำให้ได้ข้อมูลจากคนที่เคยใช้จริงอีกด้วยนะคะ

         กำหนดเวลาดูและใช้งาน สื่อ Edutainment ที่เป็นประเภทสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเตอร์เน็ต คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดให้ลูกวันละครึ่งชั่วโมงก็เพียงพอแล้วค่ะ เพื่อให้ลูกได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย อาจต่อยอดจากการ์ตูน หรือเรื่องที่ลูกดู เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากทำกิจกรรมด้วย

         อยู่กับลูกทุกครั้งที่ดู การที่คุณพ่อคุณแม่อยู่กับลูกด้วยทุกครั้ง ลูกจะได้รับคำตอบและคำอธิบายในคำถามที่สงสัยอยู่ระหว่างการดู ซึ่งจะช่วยฝึกวิธีคิดและวิเคราะห์ข้อมูล รวมไปถึงหากมีบางเรื่องที่ไม่เหมาะสมแฝงอยู่ คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถอธิบาย และยังเป็นเกราะป้องกันบางข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและอาจจะแฝงมาด้วย

         การใช้สื่อ Edutainment เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ สำหรับลูกน้อย ทั้งยังเป็นช่วงเวลาดี ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก เรียกว่าเป็นของแถมที่มาพร้อมกับการเรียนรู้ด้วยสื่อ Edutainment ค่ะ

ที่มา : http://women.kapook.com/view17604.html

ถ่ายรูปลูกเล็กแบบช่างภาพมือโปร

ถ่ายรูปลูกเล็กแบบช่างภาพมือโปร 


baby

ถ่ายรูปลูกเล็กแบบช่างภาพมือโปร
(modernmom)

          เจ้าตัวเล็กเป็นขวัญใจของทุกคนในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่คงอดไม่ได้ ที่จะคว้ากล้องขึ้นมาบันทึกภาพความน่ารักเก็บไว้ แต่เจ้าตัวเล็กไม่ยอมอยู่นิ่ง ภาพถ่ายเลยออกมาชัดบ้างเบลอบ้าง ไม่สวยบ้าง อย่างที่ตั้งใจ Modern Mom มีเทคนิคดี ๆ จากสองช่างภาพประจำนิตยสารของเรามาฝากครับ

           Step 1 : รู้จังหวะเวลา พ่อแม่เป็นคนที่รู้ใจลูกมากที่สุดว่า ช่วงเวลาไหนที่ลูกมีอารมณ์สดใสร่าเริง เช่น เวลาตื่นนอน อาบน้ำ หรือกินนมอิ่ม ถ้าโตขึ้นมาอีกนิดอาจเป็นช่วงเวลาที่ได้วิ่งเล่นซุกซน การหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปในช่วงนี้ ภาพลูกที่ถ่ายออกมาก็จะน่ารักและดูมีชีวิตชีวา

          Tips : อย่าบังคับให้ลูกยิ้ม ยืนนิ่ง ๆ หรือใช้กล้องจด ๆ จ้องเล็งเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ลูกเกร็ง ภาพถ่ายที่ออกมาก็จะดูไม่เป็นธรรมชาติและขาดความสดใสในแววตา

           Step 2 : ฉากหลังไม่รกรุงรัง การถ่ายภาพลูกให้ออกมาดูโดดเด่น ควรเลือกฉากหลังที่ไม่รุงรังหรือถ้าถ่ายภาพตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ ควรใช้ฉากหลังที่ไม่สะท้อนแสง เช่น ฝาผนังทาสีเรียบ และมีโทนค่อนข้างมืด

          Tips : ให้ลูกอยู่ห่างจากฉากหลังพอสมควร เพื่อกันไม่ให้เงาตกลงบนตัวลูก รวมไปถึงชุดที่เลือกให้ลูกใส่ ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับสถานที่ และไม่ฉูดฉาดจนเกินไป

           Step 3 : ระวังการใช้แสงแฟลช เด็กทารกนับแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงวัยเด็กเล็ก ไม่ควรถ่ายภาพโดยใช้แฟลชยิงตรงเข้าตา เพราะแสงแฟลชเป็นอันตรายสำหรับดวงตาอันบอบบางของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรปิดแฟลชและปรับตั้งกล้องเลือก ISO สูง ๆ และตั้งความเร็วชัตเตอร์โหมด P เพื่อถ่ายภาพแบบออโต้

          Tips : การถ่ายภาพเด็กของสตูดิโอที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก โดยเฉพาะจะมีซอฟต์บล็อก เพื่อช่วยกรองแสงแฟลช ไม่ให้แสงกระทบตาเด็กโดยตรง

           Step 4 : รอจังหวะแสง แสงยามเช้าและช่วงเย็นภายนอกตัวบ้านเหมาะกับถ่ายภาพลูกมากที่สุด หรือแสงที่ส่องผ่านหน้าต่างและประตู เพราะจะได้ภาพที่ดูดีมีมิติของแสง หากถ่ายภาพในบ้านที่แสงมืดแล้วใช้แฟลช ภาพจะแบนไม่สวย ถ้าเป็นไปได้อาจใช้มุมถ่ายภาพด้วยแสงบริเวณนอกบ้าน เช่น ระเบียงมุมในสวน สนามหญ้า หรือสระว่ายน้ำจะดีกว่า แต่ต้องเลือกช่วงเวลาที่แสงไม่แรงจนเกินไป เพราะแสงอาจสะท้อนเข้าตาลูก ทำให้ลูกหยีหรือหลับตาได้

          Tips : ระวังการถ่ายภาพย้อนทางแสงอาทิตย์ เพราะภาพลูกที่ถ่ายออกมาจะดำมือเกินความเป็นจริง

           Step 5 : หาของเล่นจูงใจ ตามธรรมชาติของเด็ก บางครั้งเขาอาจไม่สนใจมองกล้องขณะถ่ายภาพ และชอบทำอะไรซ้ำ ๆ นาน ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้ความอดทน และมีวิธีการทำให้เจ้าตัวเล็กหันมาสนใจกล้อง ถ้าเป็นลูกเล็กของเล่นเขย่าแล้วมีเสียงนี่แหละครับ ที่จะสร้างความสนใจให้ลูกเพ่งมอง หรือถ้าเป็นเด็กโต อาจใช้ของเล่นที่เขาชื่นชอบหรือใช้สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น ถ่ายไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ภาพประทับใจ

           Step 6 : ถ่ายภาพระนาบเดียวกับเด็ก อย่าลืมว่าเมื่อลูกเริ่มหัดเดินหรือเดินเล่น ขนาดความสูงของเด็กต่ำกว่าสายตาผู้ใหญ่มาก การถ่ายภาพให้มีชีวิตชีวาเราต้องลงไปนั่งคุกเข่า ย่อตัว นอนราบกับพื้น เพื่อให้ได้ระดับสายตาเดียวกับลูก หรือถ่ายมุมเงยหน้าเล็กน้อย ภาพที่ออกมาจะสามารถสื่อสารทางอารมณ์ด้วยสายตาที่มีต่อกล้อง
         
          Tips : ระวังการถ่ายภาพมุมกด เพราะภาพที่ถ่ายออกมาดวงตาของเล็กๆ ของลูกดูเล็กลงเหมือนนอนหลับตา

           Step 7 : ถ่ายตามธรรมชาติ บางครั้งการถ่ายภาพเด็กให้มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส อาจไม่จำเป็นต้องจัดองค์ประกอบภาพหรือฉากให้ยุ่งยาก แต่ใช้เทคนิคการถ่ายในลักษณะที่เป็นธรรมชาติของเด็กมากที่สุด หรือการถ่ายเวลาเผลอ ภาพของลูกที่ได้จะดูเป็นธรรมชาติและบอกถึงอารมณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ได้ด้วย

          Tips : บางครั้งเด็กอาจจะทำกิจกรรมต่าง ๆ และไม่อยู่นิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เตรียมกล้องไว้ให้พร้อม และปรับสปีดชัตเตอร์ให้สูงกว่าปกติ ก็จะไม่พลาดภาพที่ประทับใจนั้นไปได้

          การถ่ายภาพลูกไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ เพียงเท่านี้ ก็สามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่เ ก็บภาพความประทับใจในแต่ละช่วงเวลาของลูกน้อย ได้อย่างมืออาชีพแล้ว

          "การถ่ายรูปเด็กให้น่ารัก เราต้องใช้เวลาคลุกคลีกับเขาให้มาก ๆ ต้องเข้าใจอารมณ์เด็ก อย่าบังคับ ที่สำคัญความน่ารักของลูกจะออกมาได้มากแค่ไหน พ่อแม่ย่อมจะรู้ดีที่สุด่าลูกของตัวเอง ถ่ายภาพมุมไหน ทำผมหรือแต่งตัวอย่างไร ถึงจะดูน่ารักไม่ยากค่ะ แต่ต้องหมั่นฝึกฝน"

          "สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเด็กคือความไม่แน่นอน เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าช่วงเวลาต่อไปเด็กจะทำอะไร จะเป็นอย่างที่เราคิดหรือไม่ พ่อแม่ที่อยากถ่ายรูปลูกให้ออกมาน่ารัก ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกบ่อย ๆ รู้ใจลูก ถ้าทำได้การถ่ายรูปลูกก็ไม่ใช่เรื่องยาก"

          "การถ่ายภาพเด็กให้ออกมาน่ารัก เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติของเด็กด้วย เพราะเด็กเล็ก ๆ มักซนไม่อยู่นิ่ง การถ่ายภาพเด็ก จึงต้องอาศัยจิตวิทยาความเข้าใจ ประกอบกับความอดทนภาพของเด็กที่ออกมาจึงจะสมบูรณ์สวยงาม และมีชีวิตชีวา

ที่มา : http://women.kapook.com/view17651.html

บ๊ายบายขวดนม เมื่อไหร่ดี

บ๊ายบายขวดนม เมื่อไหร่ดี

เลิกขวดนม - baby

บ๊ายบายขวดนม เมื่อไหร่ดี
(M&C แม่และเด็ก)

           การดูดนมขวดของทารกแรกเกิด ถือเป็นการเริ่มการทานนมที่เขาคุ้นลิ้นและคุ้นเคยมาก่อน แล้วจู่ๆ จะเปลี่ยนจากจุกนิ่มๆ มาเป็นหลอดหรือแก้ว ที่ไม่คุ้นเคยเอาเสียเลยนั้น คงจะทำร้ายจิตใจเจ้าหนูมากเกินไป แต่ทุกอย่างมีทางออกเสมอ ถ้าแม่มีความพยายามฝึกลูกอย่างเต็มที่ เชื่อแน่ว่าลูกต้องเลิกนมขวดได้เร็วแน่นอน และถ้าแม่เองทราบถึงผลพวงของการเลิกนมขวดช้าแล้วละก็ น่าจะช่วยให้แม่ให้ลูกเลิกนมขวดได้เร็วขึ้น เพราะอะไรนั้น เรามีคำตอบค่ะ 

เลิกนมขวดช้าไป

           แพทย์มักแนะให้เลิกดูดนมขวดตั้งแต่อายุประมาณ 6 เดือน และฝึกให้ทานนมจากแก้วหรือจากหลอดแทน เพราะช่วงนี้เด็กเริ่มนั่งได้ สามารถใช้มือจับแก้วได้ เพราะถ้าหากฝึกให้ลูกเลิกนมขวดช้ากว่านี้จะยาก เพราะเขาจะดื้อ ไม่ยอมฟังเหตุผลค่ะ ขณะเดียวกัน ควรหยุดให้นมตอนกลางคืนตั้งแต่อายุ 6 เดือน

           การเตรียมพร้อมในการเลิกนมขวด ต้องเตรียมตั้งแต่เริ่มให้นม โดยตอนให้นมขวดไม่ควรเติมของรสหวานลงทุกชนิดไปในขวดนม ควรให้ลูกดูดนมเป็นเวลา แยกเวลากินเวลานอนออกจากกัน ไม่ควรให้นมลูกก่อนเข้านอน เพราะการการดูดนมหลับคาขวด จะทำให้มีโอกาสเกิดฟันผุมาก

เมื่อหนูติดนมขวดมีผลอย่างไร

           1. ฟันผุ ฟันสบกันไม่ดี โดยส่วนใหญ่แล้วแม่มักให้ลูกดูดนมก่อนนอน จนลูกหลับคาขวดนม เด็กจะติด บางคนถ้าไม่ได้ดูดนม ก็จะนอนไม่หลับเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นบ่อยๆ เด็กก็มีโอกาสเกิดฟันผุจากคราบน้ำนมที่ค้างปากทั้งคืน และยิ่งเป็นขนมชนิดหวาน ก็ย่อมมีผลมากขึ้นด้วยค่ะ และนอกจากนี้ ถ้าคุณแม่ปล่อยให้น้องดูดนมขวดเป็นเวลานาน จนเด็กโต จุกนมที่ดูดนั้นมีผลต่อการเรียงของฟัน ทำให้การสบฟันไม่ดี ฟันยื่น และเสียโอกาสในการเรียนรู้ฝึกฝน พัฒนา ปากและฟัน ตามขั้นตอนด้วยค่ะ

           2. โรคอ้วน ในวัย 1 ขวบขึ้น เป็นวัยที่ทานข้าวเป็นสารอาหารหลัก ส่วนนมนั้นเป็นอาหารเสริม แต่ในเด็กที่ทานนมขวด มักไม่ค่อยทานข้าว เพราะติดรสหวานจากนมขวด ทำให้ไม่สนใจที่จะทานข้าว เมื่อทานนมมากๆ ก็จะได้แต่น้ำตาล ขาดสารอาหารจากข้าวตามวัยที่เด็กควรจะได้รับ จึงทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้

           3. ไม่ยอมทานข้าว เด็กที่ติดขวดนมมักปฏิเสธการทานข้าว ทานน้อย และถ้าปล่อยไว้จนโต เด็กก็จะดื้อจนปรับเปลี่ยนได้ยากมากขึ้น จนติดการดูดนมจนเป็นกิจวัตร แม้ไม่หิวก็ดูด เด็กจึงไม่รู้สึกอยากทานข้าว

           4. ขาดทักษะที่สำคัญ ยังทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะการพูด การเคี้ยวและการใช้มือในการทำกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย

เมื่อหนูเลิกนมขวด

           1. ฟันไม่ผุ ฟันสวย เพราะเด็กที่เลิกทานนมขวด หันมาทานนมจากแก้วหรือจากหลอด ทำให้เลิกนมมื้อดึกได้เร็วขึ้น ไม่ต้องดูดนมจนหลับคาปาก โอกาสเกิดฟันผุก็น้อยลง ทำให้ฟันสวยและไม่เสียรูปทรง

           2. ไม่ปัสสาวะรดที่นอน การเลิกนมขวดมาทานนมจากแก้ว ไม่ต้องทานนมตอนกลางคืนเหมือนแต่ก่อน ก็จะปัสสาวะได้น้อยลง จึงช่วยฝึกการขับถ่ายให้ลูกด้วย

           3. ทานข้าวได้เยอะ เพราะเด็กไม่ติดขวดนม ก็จะลดการดูดนม ทำให้ทานข้าวได้มากขึ้น เพราะไม่อิ่มนม

           4. แม่เหนื่อยน้อยลง เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการล้างขวด สามารถพกพาแก้วหรือดื่มจากกล่องได้ทุกที่ทุกเวลา

           5. ได้ฝึกทักษะ เด็กจะได้ฝึกทักษาการใช้มือและพัฒนาการปากและฟัน ตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น และเด็กก็จะไม่รู้สึกอายเมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนในชั้นด้วย ทำให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ดีด้วย

           จากการศึกษาการใช้ขวดนมในเด็กอายุ 1 - 4 เดือน ระหว่างปี 2546 - 2549 จำนวน 1,038 ราย พบว่า เด็กอายุ 1 ปีขึ้น ไม่สามารถที่จะเลิกขวดนมได้ ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน ร้อยละ 85 ยังดูดนมมื้อดึก เด็กอายุ 2 - 3 ปีร้อยละ 70 ยังดูดนมจากขวด และร้อยละ 50 ยังดูดนมมื้อดึก

ที่มา : http://women.kapook.com/view17688.html