สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับคะ

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคเสริมสร้าง EQ ลูกขวบปีแรก

เทคนิคเสริมสร้าง EQ ลูกขวบปีแรก

EQ baby

เทคนิคเสริมสร้าง EQ ลูกขวบปีแรก
(modernmom)

          อารมณ์ดีคือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดีของลูก พ่อแม่จึงควรทำความรู้จักส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกขวบปีแรก และต้องตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของลูกน้อย เพื่อให้เขาเติบโตได้อย่างสมวัยค่ะ

0-3 เดือน

          เจ้าตัวเล็กมีอารมณ์และความรู้สึกมากกว่าที่คิดค่ะ ตั้งแต่แรกเกิดลูกจะมีความสุข เมื่อรู้สึกพอใจ เวลาที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มีคนมาอุ้มหรือโอบกอด หรือเมื่อลูกสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น แม่ ๆ มักสังเกตเห็นว่าเจ้าตัวเล็กยิ้มให้คุณให้กับคนใกล้ชิด แต่ยังเป็นยิ้มที่ไม่มีความหมายจนกว่าจะถึงวัย 6-8 สัปดาห์นั่นแหละค่ะ

          นอกจากนี้เด็กเล็กยังมีความรู้สึกเป็นทุกข์ด้วยค่ะ ทุกข์จากความหิว ตกใจ หรือรู้สึกไม่สบายตัว จะใช้การ้องไห้เป็นการสื่อสาร พอถึงวัย 2-3 เดือน เริ่มสงสัยและหัวเราะชอบใจเวลาที่คุณเล่นกับเขา

          Activity : ชวนลูกเล่นเกม "รอยยิ้มของหนู" ด้วยการอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนแล้วโยกไปมาเบา ๆ ใช้นิ้วลูบไล้บริเวณแก้มของลูก เมื่อลูกยิ้มรับก็พูดชื่นชมให้ลูกรู้ว่าคุณรักเขาแค่ไหน ที่สำคัญขณะที่ลูบแก้มของลูกอยู่ ให้นับ หนึ่ง สอง สาม แล้วพูดว่า "ยิ้มนะจ๊ะ" ก็เรียกรอยยิ้มจากลูกได้แล้ว

3-6 เดือน

          เด็กวัยนี้เริ่มแสดงอารมณ์ทางสีหน้าและแสดงท่าทางแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพบคนที่คุ้นเคย ลูกจะยิ้มง่าย เรียกร้องความสนใจให้แม่เดินเข้าไปหา แต่เมื่อแม่เดินจากไปจะร้องไห้จ้าเลยทีเดียว พอ 4 เดือนเริ่มส่งเสียงแสดงอารมณ์ไม่พอใจ สนุก หงุดหงิด หัวเราะ รู้จักความกลัว กังวลและโกรธแสดงปฏิกิริยาต่อต้านเมื่อมีคนหยิบของเล่นชิ้นโปรดไป และพยายามเลียนแบบสีหน้าที่สื่อถึงอารมณ์ต่าง ๆ ด้วย

          Activity : "เกมจ๊ะเอ๋ผ้าอ้อม" จะพัฒนาอารมณ์ให้เด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี เกมนี้ทำให้การเปลี่ยนผ้าอ้อมกลายเป็นความสนุก เพียงยกผ้าอ้อมขึ้นมาปิดหน้าคุณไว้ แล้วเปิดออกพร้อมพูดว่า "จ๊ะเอ๋" ทำได้หลายครั้ง ลูกไม่มีวันเบื่อค่ะ

6-8 เดือน

          ตอนนี้ลูกเริ่มมีความต้องการที่ชัดเจน และแสดงออกว่า ตัวเองต้องการอะไรที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือการพัฒนาอารมณ์ขันค่ะ โดยเฉพาะตอนที่เล่นเกม หรือได้รับปฏิกิริยาตอบกลับที่กระตุ้นความสนใจ เช่น แกล้งทำของตกแล้วทำท่าตกใจ ขณะเดียวกัน ลูกก็เริ่มกลัวคนแปลกหน้า เพราะเขาสามารถจดจำใบหน้าของคนใกล้ชิดได้แล้ว แถมยังกลัวการแยกจากแม่ ทำให้เกิดอาการติดแม่ และกลัววัตถุแปลกใหม่อีกด้วย

          Activity : "เกมเจ้าหนูตัวน้อย" เป็นการใช้นิ้วเคลื่อนไหวเป็นรูปวงกลมบนฝ่ามือของลูก ไต่นิ้วไปตามแขนของลูก จนถึงใต้คางแล้วจั๊กจี๋ที่ใต้คาง หรือเล่นที่นิ้วเท้าของลูกวิ่งวนไต่ขึ้นไปตามขา จนถึงหน้าท้อง ทำให้ลูกหัวเราะคิกคักเพราะสัมผัสของพ่อแม่

8-10 เดือน

          เป็นช่วงวัยที่ลูกเกิดความรู้สึกกลัวสิ่งใหม่ ๆ เพราะตอนที่ลูกหัดยืน หัดปืน ระดับสายตาจะสูงกว่าตอนนั่งและนอน ทำให้ลูกรู้จักช่องว่าง และรู้สึกกลัวความสูงหรือกลัวของที่เคลื่อนไหว เช่น ตุ๊กตาเคลื่อนไหวได้ เรียกว่าเป็นการกลัวที่เกิดจากการค้นพบโลกใบใหม่นั่นเอง และเพราะรู้จักโลกไปใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ นี่เองลูกจึงสนุกกับการค้นพบ พอ ๆ กับเบื่อง่าย

          Activity : "เกมถาดหลุมแสนกล" เกมนี้มีอุปกรณ์หาง่ายอย่างจานที่มีหลายหลุม กล่องที่มีช่องหลายช่อง และของชิ้นไม่ใหญ่ที่สามารถใส่หลุมที่เตรียมไว้ได้ ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดูก่อน โดยหยิบของที่เตรียมไว้มาใส่ลงไปในหลุม แล้วหยิบออก แล้วใส่ลงไปใหม่ ให้ลูกลองเล่นด้วยวิธีเดียวกันจนครบทุกหลุม แต่ต้องระวังขนาดของสิ่งของที่จะหยอดด้วยนะคะ เพราะลูกอาจจะหยิบเข้าปาก หู หรือจมูก จนเป็นอันตรายได้

10-12 เดือน

          เริ่มแสดงความเป็นเจ้าของ เรียกร้องความสนใจ และกังวลเรื่องการยอมรับและไม่ยอมรับของคนอื่น ถ้าเด็กคนอื่นได้รับความสนใจก็จะร้องไห้ ติดพ่อแม่และต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ กลัวสถานที่ใหม่ ๆ แสดงออกทางอารมณ์ได้ดี และสามารถรับรู้อารมณ์คนอื่นได้ด้วย ไม่ใช่ความรู้สึกกลัวเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น เจ้าตัวเล็กยังมีอารมณ์ขันมากขึ้นด้วยค่ะ

          Activity : "เกมทำฝน" มีอุปกรณ์ที่หาได้ในบ้านคือ ขวดพลาสติกใบเล็กๆ ที่มีหูจับ นำมาเจาะรูรอบ ๆ ขวด ทำให้ลูกดูด้วยการใส่น้ำในขวด แล้วยกขวดขึ้นก็จะได้ฝนตกสมใจ ให้ลูกลองเล่นตาม อย่าลืมร้องเพลงเกี่ยวกับฝนประกอบการเล่นด้วยนะคะ

          การเติบโตทางภาวะอารมณ์ที่ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ จะช่วยพัฒนาเป็นพื้นฐานอารมณ์ของเบบี๋ และเมื่อพ่อแม่รับรู้พัฒนาการด้านอารมณ์ในช่วงวัยต่าง ๆ ของลูก พวกเขาก็สัมผัสได้ถึงความรัก ความอบอุ่นและความเอาใจใส่เป็นอย่างดี จนกลายเป็นเด็กอารมณ์ดี มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจค่ะ

ที่มา : http://women.kapook.com/view17546.html
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น