สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับคะ

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รวมเคล็ดลับและความรู้เรื่องนมแม่ 25 ข้อ

คลอดที่โรงพยาบาลที่สนับสนุนนมแม่ (จริงๆ)- นมแม่จะสำเร็จได้ง่าย ถ้าได้การเริ่มต้นที่ถูกต้อง
- รพ.ที่สนับสนุนนมแม่จะให้ลูกและแม่ได้เจอกันหลายครั้งใน 1 วัน เพื่อให้ลูกดูดกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างน้ำนม
- รพ.ที่เสริมนมผงให้ลูกโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ได้สนับสนุนนมแม่อย่างแท้จริง
(ขอให้สอบถามกับโรงพยาบาลก่อนซื้อแพคเกจคลอดบุตรว่า แม่และลูกพบกันเพื่อดูดนมวันละกี่ครั้ง)

เชื่อมั่นในนมแม่และร่างกายของตนเอง
- นมของแม่ทุกคน มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแต่ไม่มีใครโฆษณาให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง คุณแม่ควรศึกษาให้เข้าใจบ้าง และนำเอกสาร/แผ่นพับกลับบ้านเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกครอบครัว เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

คลอดธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ เพราะร่างกายแม่จะฟื้นตัวเร็ว
แม่ที่ผ่าคลอดก็สามารถให้นมแม่ได้ แต่ควรใช้เทคนิคอุ้มลูกด้วยท่าที่ไม่กดทับแผลผ่าคลอด
3 ด. (ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี) หลังคลอดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเร็ว
- ดูดทันทีหลังคลอดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนม
- ดูดสม่ำเสมอทุกๆ 2 ชม และ
- เมื่อลูกดูด ให้อมลึกถึงลานนม ถ้าดูดถูกวิธี แม่ไม่ต้องทนเจ็บปวด

หัวนมเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ต้องรักษาให้ดี
- ถ้าลูกอมลึกถึงลานนมจะรีดน้ำนมออกได้มาก แม่จะไม่รู้สึกเจ็บ
- หลังให้นมแม่ ใช้นมแม่ทาหัวนมและผึ่งให้แห้ง ช่วยสมานแผลหรือลดความระบมได้

สลับดูด ซ้าย-ขวา ไม่ใช่เฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง
ลูกจะได้หัดดูดทั้งสองข้าง กระตุ้นให้น้ำนมสร้างเท่าๆ กันทั้งสองข้าง
สมมติว่ารอบเช้า เริ่มเต้าขวา ดูดเต้าซ้ายไม่เกลี้ยง ก็ให้บีบข้างซ้ายออก
รอบต่อไปให้ดูดข้างซ้ายให้เกลี้ยง แล้วบีบข้างขวาออก (ใช้ยางรัดผมคล้องที่ข้อมือเตือนความจำ)

หัวนมสั้น ไม่ใช่อุปสรรค
- หากเต้านมคัดตึงและดึงให้หัวนมสั้นลงอีก จะทำให้ลูกงับนมได้ไม่ลึก
- ให้บีบน้ำนมออกโดยให้บีบรอบๆ ลานนม (หรือเครื่องปั๊ม)
- เมื่อหัวนมอ่อนนุ่มและแหลมขึ้น ลูกจะงับได้ง่ายขึ้น


นมแม่ต้องฝึกฝน จะสำเร็จได้ แม่ต้องฝึกอุ้มและสังเกตลูก ส่วนลูกก็ต้องเรียนรู้ในการดูดเต้าแม่

เลือกพบกุมารแพทย์ ที่สนับสนุนนมแม่
หากนมแม่ไม่พอ คุณหมอควรช่วยค้นหาสาเหตุและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอะอะก็เสริมนมผง

ขอความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา ไปคลินิกนมแม่ หรือปรึกษาแม่อาสา


งดใช้ขวดนมในระยะ 2 เดือนแรกโดยเด็ดขาด
- ให้ดูดจากเต้าเท่านั้น เพราะน้ำนมจากขวดที่ไหลเร็ว ทำให้ลูกดูดนมแม่แล้วหงุดหงิด มีโอกาสปฏิเสธเต้าแม่สูงขึ้น
- ทารกที่ได้รับน้ำนมผ่านขวดตั้งแต่ที่รพ.จะได้รับการฝึกดูดเต้าแม่ไม่เพียงพอ เมื่อกลับบ้านอาจมีปัญหาดูดนมแม่
- ทารกที่ชอบดูดนมจากขวด จะไม่อ้าปากกว้างแต่งับตื้นๆ ดูดนมแม่ไม่ลึก แม่จะเจ็บ หัวนมจะแตก
- หากมีความจำเป็นที่ต้องป้อนน้ำนมแม่ตอนแม่ไม่อยู่ ควรใช้ถ้วยใบเล็ก (cup feeding) หรือ ช้อนค่อยๆ ป้อน

น้ำนมเพียงพอหรือไม่ สังเกตดังนี้
- นับจำนวนผ้าอ้อมเปียก (ผ้าอ้อมผ้า 6-8 ผืนชุ่มใน 24 ชม. หรือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 4-5 ชิ้น)
- ถ่ายเป็นสีเหลืองทองหรือเหลืองนวล นิ่มคล้ายยาสีฟัน บ่อยได้ถึง 10 ครั้งต่อวัน (ในช่วงเดือนแรก ในเดือนที่สองอาจไม่อึหลายวันเพราะลำไส้ทำงานดีขึ้น) อาจดูเหมือนเมล็ดมะเขือ มีมูกยืดบ้าง กลิ่นไม่รุนแรง
- หลังลูกดูดนมเสร็จ เต้านมแม่อ่อนนุ่มลง
- ลูกสงบลง แลดูมีความสุขและพอใจหลังได้ดูดนมแม่ อาจนอนหรือไม่นอนหลับหลังดูดนมก็ได้


ไม่เสริมนมผง หรือนมของแม่คนอื่น
เมื่อลูกอิ่มแล้วจะไม่ดูดกระตุ้นจากที่เต้าของแม่ ทำให้น้ำนมแม่ไม่มากเท่าที่ลูกต้องการ

ลูกหงุดหงิดเมื่อดูดนมแม่ มีไม่กี่สาเหตุหลัก แต่ไม่ใช่นมแม่ไม่พอ
1. ถ้าลูกเคยกินนมจากขวด ลูกอาจเริ่มชินกับน้ำนมที่ไหลเร็วทันใจ งับปุ๊บก็ไหลปั๊บ แต่นมแม่จะไหลหลังดูดประมาณ 1 นาที (กลไกธรรมชาติของการหลั่งน้ำนม) จึงทำให้หงุดหงิดรำคาญ เป็นอาการแรกเริ่มของอาการ"ติดจุก" (กรุณาดูวิธีแก้ในหัวข้อต่อไป)
2. ถ้าลูกไม่เคยกินนมจากขวด ลูกอาจหงุดหงิดเพราะน้ำนมพุ่งแรงเกินไป แม่สามารถบีบน้ำนมออกบ้างเพื่อลดแรงฉีดของน้ำนม
3. สาเหตุอื่นๆ ที่พึงพิจารณาคือ อากาศร้อน ง่วง ไม่สบายตัว เปียกชื้น เสียงดังสภาพแวดล้อมไม่สงบ เป็นต้นค่ะ

ถ้าลูกเริ่มติดจุก ให้ดูดแต่เต้าแม่เท่านั้นและงดขวดโดยเด็ดขาด
เวลาลูกเจอเต้าแม่แล้วหงุดหงิด พองับเต้านมแม่ให้หยดน้ำนมลงที่มุมปากของลูก เพื่อหลอกว่าน้ำนมไหลแล้ว ช่วยลดความหงุดหงิดลงได้ ถ้าลูกแลดูไม่หงุดหงิดแล้วก็ไม่ต้องหยดน้ำนม


แม่เหนื่อยมาก ลูกยังไม่รู้จักกลางวันหรือกลางคืน แม่ควรงีบพักเมื่อลูกนอนหลับ หาผู้ช่วยงานบ้านเมื่อเป็นไปได้ (หรือปล่อยวางบ้างก็ได้) 2-3 เดือนผ่านไป ลูกจะเริ่มปรับเวลากลางวันกลางคืนได้ดีขึ้น

น้ำและอาหารเสริมเป็นของคู่กัน เมื่อลูกอายุ 6 เดือน
นมแม่มีน้ำถึง 88% มากพอสำหรับความต้องการของลูก
ลูกจะพร้อมรับอาหารตามวัยตอน 6 เดือน ให้อาหารเสริมเร็วอาจทำให้เกิดภูมิแพ้ หรือท้องอืด อาหารไม่ย่อย ลำไส้ทำงานหนัก

สาเหตุที่ทำให้นมแม่น้อย
1. เสริมนมอื่น ไ่ม่ว่าจะเป็นนมผงหรือนมบริจาค
2. ไม่ให้ลูกดูดบ่อย (ทุก 2-3 ชม.)
3. แม่รับอาหารไม่เพียงพอ อดอาหาร
4. ลูกดูดไม่ถูกวิธี อาจมีผังผืดใต้ลิ้น ฯลฯ แม่รู้สึกเจ็บ
5. ปล่อยให้เต้าคัดนานๆ ไม่บีบออก
6. ความเครียดของแม่ ลดการหลั่งของน้ำนม


ลูกดูดนมทั้งวัน แปลว่านมไม่พอหรือเปล่า?
- ทารกหลายคนที่ "กินเก่ง" ร้องขอดูดทั้งวัน ไม่ใช่เพราะลูกหิว แต่เป็นเพราะธรรมชาติที่สร้างให้ลูกพอใจที่ได้ดูดนมแม่ บางคนร้องขอดูดเป็นชั่วโมง ดูดๆ หลับๆ ก็ต้องดูด นี่คือ suckling reflex ที่ธรรมชาติสร้างให้ลูกดูดกระตุ้นมากๆ น้ำนมแม่จะได้สร้างมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้แม่สร้างอาหารให้ลูกอยู่รอดได้ เมื่อ 3 เดือนอาการนี้จะลดลง
- เมื่อลูกร้องดูดทั้งวัน แม่ควรนอนตะแคงให้ลูกตะแคงดูด เพื่อบรรเทาความอ่อนล้าให้แม่งีบหลับเมื่อลูกหลับ

วิธีเพิ่มน้ำนม
1. ให้ลูกดูดบ่อยๆ (ประมาณ 8 มื้อใน 24 ชม.) ลูกยิ่งดูด น้ำนมยิ่งมาก
2. ไม่เสริมนมอื่นๆ
3. หากลูกนอนยาวเกิน 3-4 ชม. แม่ควรปั๊มน้ำนมออก
4. ปั๊มหลอก (ปั๊มลม/ขโมยปั๊ม) หลังลูกอิ่มแล้ว ร่างกายจะเข้าใจว่าลูกกินเก่งและจะสร้างน้ำนมเพิ่มเพื่อให้พอกับความต้องการของลูก
5. ดูแลร่างกายแม่ด้วยอาหารสดสะอาด 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นอย่างน้อย 2 ลิตร งดเครื่องดื่มคาเฟอีนเพื่อให้นอน พักผ่อนมากๆ ทานอาหารเพิ่มน้ำนมเช่นสมุนไพร พีชผักต่างๆ
6. พยายามผ่อนคลายจิตใจให้สบาย บริหารความเครียดด้วยการไม่กังวลกับอะไรที่ยังมาไม่ถึง

สต็อกนม ทำตอนไหนดี
แม่สามารถปั๊ม/บีบออกหลังลูกกินอิ่มแล้ว
ค่อยๆ ปั๊มหรือบีบมือหลังทุกๆ มื้อ เก็บในขวดเดียวกันแล้วเทรวมได้ค่ะ
ในช่วงเดือนแรกหากลูกดูดตลอด บางทีปั๊มด้วยเครื่องจะปั๊มไม่ออก
ก็ให้ลูกดูดไปเพราะจะได้ช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมามาก
เดือน 2-3 จะพบว่าน้ำนมเพิ่มขึ้นมาก
ถ้าลาคลอดได้ 3 เดือน เดือนสุดท้ายค่อยทำสต็อกก็ยังทันค่ะ


ที่สำคัญ คอยเติมความมั่นใจในนมแม่ มีคำถามให้หาคำตอบ อย่าเชื่อสื่อโฆษณา
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด สะอาดที่สุด และเหมาะที่สุดสำหรับทารก ซึ่งจะไม่มีนมชนิดอื่นมาเทียบเคียงได้ เสมือนความรักของแม่ที่มีแด่ลูก


ขอให้มีความสุขกับการให้นมแม่
- ลูกจะโตและเปลี่ยนแปลงทุกวัน อย่าเพิ่งกังวลว่าจะเหนื่อยเช่นนี้ตลอดไป
- ลูกจะพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น เริ่มนอนนานขึ้น ยิ้มเก่ง คุยอ้อแอ้ แม่ก็จะรู้ใจลูกมากขึ้น ทุกๆ วันจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้กันไป ขออย่าเพิ่งกังวลไปไกล ค่อยๆ ทำทุกวันให้ดี ดูไปทีละมื้อนม ค่อยๆ สังเกตไป เข้าใจลูกว่าลูกพยายามจะสื่อสาร ขอให้นึกเสมอว่าลูกยังไม่ชินกับโลกนอกมดลูก ให้โอบกอดลูกบ่อยๆ ให้นมให้ลูกสบายใจ

อย่าลืมว่า นมแม่ พอแน่ๆ
- ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องและด้วยความเข้าใจ
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ย่อมเหนื่อยบ้าง ขอให้อดทน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าสำหรับลูก ตั้งแต่วันนี้ไปจนลูกโต


ขอบอก ข้อดี (แบบย่อๆ) ของนมแม่ ก่อนจบนะคะ
สำหรับแม่
มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำหนักลดลงเร็ว สุขภาพดี ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ไม่ต้องลางานเพราะลูกไม่ค่อยป่วย
สำหรับพ่อ
ประหยัด ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์อื่นๆ ไม่ต้องช่วยล้างนึ่งขวดนม
สำหรับลูก
สุขภาพดี ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ไม่ค่อยป่วย ถ้าป่วยจะป่วยน้อย หายเร็ว เพราะได้รับภูมิคุ้มกันในน้ำนมแม่ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะลดโอกาสการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ (-10%)โรคเบาหวาน (-40%)
สำหรับนายจ้าง
ลูกจ้างไม่ต้องลาเพราะลูกป่วย และต้องมีวินัยในการทำงานเพราะต้องเจียดเวลาไปปั๊มนม
สำหรับสังคม
แม่ลูกจำเป็นต้องใกล้ชิด เสริมสร้างสายใยและความสัมพันธ์ในครอบครัว
สำหรับเศรษฐกิจ
ช่วยรักษาดุลการค้า ไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรเพื่อผลิตนมผง เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนลดลง เศรษฐกิจพอเพียง ประหยัดได้เดือนละ 3,000-4,000 บาทต่อหนึ่งครัวเรือน
สำหรับประเทศ
ประชากรสุขภาพดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประหยัดงบประมาณการรักษาโรคจากความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพราะนมแม่ทำให้สุขภาพดีไปจนโต
สำหรับโลก
ลดโลกร้อน ไม่ต้องใช้เครื่องจักรผลิตนม ช่วยลดขยะ (กระป๋อง ขวด จุกนม ฯลฯ) ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น (ต้มนึ่งขวดนม)

ที่มา : http://www.thaibreastfeeding.org/component/option,com_fireboard/Itemid,95/func,view/id,94493/catid,2/limit,10/limitstart,0/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น